- Wed, 30 October 2024
เทศบาล เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งของไทย ตามหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ...
เทศบาล เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งของไทย ตามหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ ราชการบริหารส่วนกลาง กระจายอำนาจไปให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอิสระที่จะดำเนินการปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา เพราะเป็นการจำลองรูปแบบการปกครองประเทศมาใช้ในท้องถิ่น
ปัจจุบันเทศบาลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งได้กำหนดให้การจัดตั้ง การเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนแปลงเขต หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล ให้กระทำเป็นพระราชกฤษฎีกา
เทศบาลตำบล จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นที่มีความเจริญพอสมควร และสามารถมีรายได้พอสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ ปรกติจะตั้งขึ้นในท้องถิ่นของอำเภอต่าง ๆ ที่มิใช่อำเภอเมือง หรือท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด เช่น เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง ตั้งอยู่ที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เทศบาลตำบลมีสมาชิกเทศบาลได้ ๑๒ คน มีคณะเทศมนตรี ๓ คน (นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีอีก ๒ คน) ปัจจุบันมีอยู่ ๔๘ แห่ง
เทศบาลเมือง จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมชนที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ คนขึ้นไป โดยประชากรเหล่านั้นอยู่หนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ คน/ตารางกิโลเมตร ทั้งมีรายได้พอสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ เทศบาลเมืองมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ ๑๘ คน มีคณะเทศมนตรีได้ ๓ คน เช่นเดียวกับเทศบาลตำบล
ส่วนใหญ่เทศบาลเมืองจะตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองเพราะเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ดังนั้น ในแต่ละจังหวัดอย่างน้อยจะมีเทศบาลเมือง ๑ แห่ง อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองอาจจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นอำเภออื่นนอกจากอำเภอเมืองก็ได้ เช่น เทศบาลเมืองบ้านโป่ง ตั้งขึ้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีเทศบาลเมืองทั้งสิ้น ๘๗ แห่ง
เทศบาลนคร ตั้งขึ้นในท้องถิ่นชุมชนที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ คนขึ้นไป โดยประชาชนเหล่านั้นอยู่กันอย่างหนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ คน/ตารางกิโลเมตร ทั้งมีรายได้พอสมควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ เทศบาลนครมีสมาชิกสภาเทศบาล ๒๔ คน และมีคณะเทศมนตรี ๕ คน (นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีอื่นอีก ๔ คน)
เทศบาลนครจะจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นชุมชนเมืองใหญ่ ๆ ที่มีประชากรหนาแน่น ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ประเทศไทยมีเทศบาลนครอยู่ ๓ แห่ง คือ เทศบาลนครกรุงเทพ เทศบาลนครธนบุรี และเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๔ รัฐบาลได้รวมเทศบาลนครกรุงเทพกับเทศบาลนครธนบุรีเข้าด้วยกันตั้งเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี แล้วได้พัฒนามาเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” จึงทำให้เทศบาลนครเหลืออยู่แห่งเดียว คือ เทศบาลนครเชียงใหม่
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย ได้ตราพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลเมืองขึ้นเป็นเทศบาลนครอีก ๘ แห่ง รวมกับที่มีอยู่เดิมเป็น ๙ แห่ง ดังนี้
๑. เทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
๒. เทศบาลนครนครราชสีมา ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๓. เทศบาลนครนครสวรรค์ ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๔. เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๕. เทศบาลนครขอนแก่น ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๖. เทศบาลนครอุดรธานี ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๗. เทศบาลนครยะลา ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๘. เทศบาลนครนนทบุรี ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘
๙. เทศบาลนครหาดใหญ่ ยกฐานะขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
เทศบาลนครทั้ง ๙ แห่งนี้ ส่วนใหญ่จะยกฐานะจากเทศบาลเมืองที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือพื้นที่อำเภอเมืองนั่นเอง มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่มิได้ตั้งอยู่ในท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด คือ
เทศบาลนครหาดใหญ่ ดังนั้น เทศบาลเมืองจะยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครได้ทุกแห่ง ถ้ามีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะตั้งเป็นเทศบาลตำบลไม่ได้.
ผู้เขียน: นายวิรัช ถิรพันธุ์เมธี กรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๗, กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙